ชาง ยาง
ชาง ยาง | |||||||||||||||||||||||||||||||
รูปปั้นของชาง ยาง | |||||||||||||||||||||||||||||||
ภาษาจีน | 商鞅 | ||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
ชาง ยาง (จีน: 商鞅; พินอิน: Shāng Yāng; ราว 390–338 ปีก่อนคริสตกาล) หรือ เว่ย์ ยาง (จีน: 衞鞅; พินอิน: Wèi Yāng)[1] ชื่อเดิมคือ กงซุน ยาง (จีน: 公孫鞅; พินอิน: Gōngsūn Yāng)[1] เป็นรัฐบุรุษและนักปฏิรูปแห่งรัฐฉิน (秦國) มีชีวิตอยู่ในยุครณรัฐ (戰國時代) ของจีนโบราณ นโยบายของเขาทำให้ฉินสามารถครองแผ่นดินจีนและผนวกแว่นแคว้นเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้สำเร็จ เขากับศิษยานุศิษย์ยังฝากผลงานไว้ในตำราชื่อ ชาง-จฺวินชู (商君書) ซึ่งนักวิชาการสมัยใหม่เห็นว่า เป็นรากฐานแห่งหลักนิตินิยมของจีน (Chinese Legalism)[2]
ชีวิต
[แก้]ต้นชีวิต
[แก้]ชาง ยาง เกิดในรัฐเว่ย์ (衛國) ซึ่งอยู่ในความปกครองของราชวงศ์โจว (周朝) เขารับราชการในรัฐเว่ย์ แต่ภายหลัง ฉินเซี่ยวกง (秦孝公) ผู้ปกครองรัฐฉิน สนับสนุนให้เขาทิ้งตำแหน่งในรัฐเว่ย์มาเป็นที่ปรึกษาราชการในรัฐฉิน[3]
การปฏิรูป
[แก้]ระหว่างรับราชการในรัฐฉิน ชาง ยาง ริเริ่มการปฏิรูปหลายประการที่ช่วยให้รัฐฉินเกิดความเข้มแข็งในทางทหารและการรวมศูนย์อำนาจ หาน เฟย์ (韓非) นักประวัติศาสตร์แห่งยุครณรัฐ ระบุว่า ชาง ยาง ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมาย (定法) และการปฏิบัติต่อปวงชนอย่างเสมอหน้ากัน (一民) ชาง ยาง เชื่อในหลักนิติธรรมและให้ความสำคัญแก่ความรักชาติยิ่งกว่าความรักญาติ เขาทำข้อเสนอสองประการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในรัฐฉิน ข้อเสนอแรกมีขึ้นเมื่อ 356 ปีก่อนคริสตกาล ว่าด้วยการปรับปรุง ประชุมกฎหมาย (法经) ของหลี่ คุย (李悝) ที่ใช้มานาน การยึดอสังหาริมทรัพย์ของชนชั้นขุนนางมาแจกจ่ายให้ทหารตามความชอบในสงคราม การปรับปรุงโครงสร้างยศทหารโดยแบ่งออกเป็น 20 ชั้นตามผลงาน และการส่งเสริมเกษตรกรรมในที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู โดยใช้แรงงานของผู้อพยพเข้าเมือง เพราะพลเมืองหลักเกณฑ์เข้ากองทัพสิ้นแล้ว ข้อเสนอที่สองมีขึ้นเมื่อ 350 ปีก่อนคริสตกาล ว่าด้วยการแบ่งปันที่ดินด้วยระบบใหม่ที่มีมาตรฐาน และการปฏิรูปภาษีอากร
แนวคิดของชาง ยาง ยังเป็นที่เลื่อมใสของจักรพรรดิฮั่นอู่ (漢武帝) ในสมัยหลัง[4]
การเสียชีวิต
[แก้]การปฏิรูปของชาง ยาง แม้ทำให้รัฐฉินรุ่งเรือง แต่ก็ทำให้ประโยชน์ของชนชั้นขุนนางเสื่อมถอย จึงไม่เป็นที่สบอารมณ์ของชนชั้นปกครองเสมอมา[5] นอกจากนี้ ครั้งหนึ่ง ฉินฮุ่ยเหวินจฺวิน (秦惠文君) บุตรชายของฉินเซี่ยวกง กระทำความผิด ชาง ยาง ให้ลงโทษไม่ไว้หน้าเพื่อรักษากฎหมาย ทำให้ฉินฮุ่ยเหวินจฺวินผูกใจเจ็บ[6]
เมื่อฉินเซี่ยวกงถึงแก่กรรมแล้ว ฉินฮุ่ยเหวินจฺวินขึ้นสืบตำแหน่งต่อ และไม่รอช้าที่จะแก้แค้น ฉินฮุ่ยเหวินจฺวินกล่าวหาว่า ชาง ยาง เป็นกบฏ และสั่งประหารทั้งโคตร ชาง ยาง หนีไปขอหลบซ่อน ณ โรงพักแรมแห่งหนึ่ง แต่เจ้าของบอกปัด เพราะกฎหมายที่ชาง ยาง บัญญัติไว้เองระบุว่า ห้ามรับคนที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ตามสมควรเข้าพักอาศัย ที่สุดแล้ว ชาง ยาง ถูกจับกุม และถูกประหารด้วยวิธีเชอเลี่ย (車裂) คือ ผูกร่างกายเข้ากับรถเทียมสัตว์ห้าคัน แล้วเร่งให้สัตว์ลากไปในทิศทางต่าง ๆ จนร่างฉีกขาดเป็นชิ้น ๆ[7][8] ส่วนครอบครัวของเขาก็ถูกประหารสิ้นตามคำสั่งของฉินฮุ่ยเหวินจฺวิน[5]
แม้จงเกลียดชาง ยาง เพียงไร ฉินฮุ่ยเหวินจฺวินก็ยังปฏิรูปบ้านเมืองตามแนวทางของชาง ยาง ต่อไป แต่เบนเป้าหมายจากการผนวกภาคกลางไปยึดครองรัฐฉู่ (蜀國) และรัฐปา (巴國) ในภาคใต้แทน[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Antonio S. Cua (ed.), 2003, p. 362, Encyclopedia of Chinese Philosophy [1]
- ↑ Pines, Yuri, "Legalism in Chinese Philosophy", The Stanford Encyclopedia of Philosophy (Winter 2014 Edition), Edward N. Zalta (ed.), 1.1 Major Legalist Texts, http://plato.stanford.edu/archives/win2014/entries/chinese-legalism/
- ↑ pg 79 of Classical China
- ↑ Creel 1970, What Is Taoism?, 115
- ↑ 5.0 5.1 商君列传 (vol. 68), Records of the Grand Historian, Sima Qian
- ↑ pg 80 of Classical China, ed. William H. McNeill and Jean W. Sedlar, Oxford University Press, 1970. LCCN: 68-8409
- ↑ 和氏, Han Feizi, Han Fei
- ↑ 东周列国志, 蔡元放
- ↑ Steven F. Sage 1992. p.116. Ancient Sichuan and the Unification of China. https://books.google.com/books?id=VDIrG7h_VuQC&pg=PA116
บรรณานุกรม
[แก้]- Zhang, Guohua, "Shang Yang"[ลิงก์เสีย]. Encyclopedia of China (Law Edition), 1st ed.
- Xie, Qingkui, "Shang Yang" เก็บถาวร 2007-05-09 ที่ archive.today. Encyclopedia of China (Political Science Edition), 1st ed.
- 国史概要 (第二版) ISBN 7-309-02481-8
- 戰國策 (Zhan Guo Ce), 秦第一
- บุคคลที่เกิด 390 ปีก่อนคริสตกาล
- บุคคลที่เสียชีวิต 338 ปีก่อนคริสตกาล
- นิตินิยมจีน
- นักปฏิรูปชาวจีน
- นักนิติปรัชญา
- นักปรัชญาสังคม
- นักปรัชญาการเมือง
- นักการเมืองจากผูหยาง
- บุคคลจากราชวงศ์โจว
- นักปรัชญาราชวงศ์ฉิน
- นักปรัชญาจากเหอหนาน
- ชาวเหอหนานที่ถูกประหารชีวิต
- บุคคลจากราชวงศ์ฉินที่ถูกประหารชีวิต
- บุคคลที่ถูกราชวงศ์ฉินประหารชีวิต
- การประหารชีวิตในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล
- ผู้ถูกประหารชีวิตทั้งตระกูล
- รัฐเว่ย์